บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ความรับผิดชอบต่อการเรียน[1]

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร (Summary executive)
รายงานผลการวิจัยเรื่อง
ผลของการการปฏิบัติธรรมสายวิชาธรรมกายที่มีต่อความรับผิดชอบต่อการเรียน
วิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
โรงเรียนโคราชพิทยาคม
โดย
นางสิริวรรณ  ฤทธิสิทธิ์
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะชำนาญการ
........................................................

โรงเรียนโคราชพิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีจำนวนนักเรียน 1,364 คน ครู-อาจารย์ 89 คน เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

ผู้วิจัยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 5 ห้องเรียน  จากประสบการณ์การสอนและพิจารณาจากการประเมิน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนโคราชพิทยาคมในแต่ละปีการศึกษา  ผู้วิจัยพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษอยู่ในระดับต่ำ ต้องมีการปรับปรุงทั้งทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน  นักเรียนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 ขาดความมั่นใจในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ

เมื่อพบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีผลการเรียนวิชาภาษาอังกฤษต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ผู้วิจัยจึงเริ่มสังเกตพฤติกรรมการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนอย่างจริงจังและอย่างเป็นหลักวิชากรในทางวิจัย เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหามาตั้งแต่ปีการศึกษา 2549

จากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน ผู้วิจัยพบว่า นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำนั้น เกิดจากขาดความรับผิดชอบต่อการเรียน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ (2536) ที่ได้ศึกษางานวิจัยของ ฟลาเฮอร์ตี้ และ รุซเซล (Flaherty and Reutzel, 1964 : 409-411) และพบว่า นักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง จะมีความรับผิดชอบสูงกว่านักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ  นอกจากนั้นแล้วยังสอดคล้องกับการศึกษาของบุญส่ง  ทันตานนท์ (2535 : 19-21) ที่ได้สำรวจความคิดเห็นของครูแนะแนวในโรงเรียนมัธยมศึกษา ซึ่งผลการศึกษาพบว่า พฤติกรรมการเรียนของนักเรียนที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมากที่สุดคือ พฤติกรรมความรับผิดชอบต่อการเรียน  และในการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียน ผลการศึกษาพบว่า พฤติกรรมการเรียนที่มีความแตกต่างกันมากที่สุดระหว่างนักเรียนเก่งกับนักเรียนอ่อน คือ พฤติกรรมความรับผิดชอบต่อการเรียน

สำหรับการศึกษาความรับผิดชอบต่อการเรียนกับการเรียนวิชาภาษาอังกฤษนั้น ผลการ ศึกษาของประยุทธ  พันธุ์บัว (2536) พบว่า นักเรียนที่มีระดับความสามารถในการเรียนภาษาอังกฤษ สูงมีความรับผิดชอบในการเรียนภาษาอังกฤษมากกว่านักเรียนที่มีความสามารถในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

การศึกษาเพื่อพัฒนาความรับผิดชอบต่อการเรียนของนักเรียนมีอยู่หลายวิธี เช่น การใช้กิจกรรมการเรียนรู้ เช่นงานวิจัยของจารุวรรณ  ใจอ่อน (2550) เป็นต้น การใช้ชุดกิจกรรมแนะแนว เช่น งานวิจัยของ บุษบากร  ตัณฑวรรณ (2545) พัชราภรณ์ รักช่วย (2546)  และปราณี  เดชบุญ (2546) เป็นต้น  การให้คำปรึกษา เช่นงานวิจัยของทัศนีย์  ตระกูลศุภชัย (2547) ไอรีส ทิลโฟลท์ (2547)  อัฉนันทน์ ทินกระโทก (2547) และรำเพียร  แช่มชื่น (2549) เป็นต้น  และใช้การปฏิบัติธรรม เช่นงานวิจัยของ ผุสดี  เฉลิมสุข  (2543)  ประพันธ์  ยอดวงษ์ (2545) ประไพ  มีศิลป์ (2545) ชูพรรณ วงศ์วุฑฒิ (2545)  ฐิตนาฎ  เหลืองอ่อน  (2547) และ พิณนภา  หมวกยอด  (2548) เป็นต้น

เมื่อเปรียบเทียบแนวทางในการพัฒนาความรับผิดชอบต่อการเรียนต่างๆ แล้ว ผู้วิจัยเห็นว่า การปฏิบัติธรรมเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการศึกษาครั้งนี้ เนื่องจากมีความประหยัดและสะดวก และใช้เวลาน้อยทำให้ไม่รบกวนการเรียนการสอนตามปกติ

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1) เพื่อเปรียบเทียบความรับผิดชอบต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนระหว่าง ก่อนและหลังการปฏิบัติธรรมตามสายวิชชาธรรมกาย
2) เพื่อเปรียบเทียบความรับผิดชอบต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษระหว่างนักเรียนกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมหลังการทดลอง

ความหมายของความรับผิดชอบต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ
ความรับผิดชอบต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ หมายถึง พฤติกรรมความรับผิดชอบต่อการเรียนของนักเรียน 3 ด้านคือ

1) ความมีวินัยในตนเอง หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการควบคุมพฤติกรรม ของตนให้เป็นไปตามที่ตนมุ่งหวังไว้ ซึ่งจะต้องเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเจริญแก่ตน และผู้อื่น ซึ่งมีองค์ประกอบ 5 ประการ ดังนี้
(1) ตั้งใจฟังครูสอน
(2) ทำงานตามที่ครูมอบหมาย
(3) ตรงเวลา
(4) ทำงาน หรือการบ้านด้วยตนเอง
(5) มีสมาธิในการเรียน
2) ความกระตือรือร้นในการเรียน หมายถึง ความสนใจอันเข้มข้นต่องานที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ผัดวันประกันพรุ่ง มีความเอาใจใส่ และตั้งใจในการเรียน และทำงานอย่างกระปรี้กระเปร่า ใฝ่หาความรู้ให้กับตนเองอยู่เสมอ ซึ่งมีองค์ประกอบ 6 ประการ ดังนี้
(1) ทำงานโดยไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
(2) ถามครูเมื่อมีข้อสงสัย
(3) ติดตามบทเรียนเมื่อขาดเรียน
(4) ปรับปรุงแก้ไขความบกพร่องด้านการเรียนของตนอยู่เสมอ
(5) จดบันทึกเนื้อหาที่ครูสอน
(6) เตรียมบทเรียนล่วงหน้า
3) ความขยันหมั่นเพียร หมายถึง ลักษณะการกระทำ ที่แสดงออกถึงความพากเพียรพยายามต่อการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างแน่วแน่ มีความพยายามที่จะทำงานทุกอย่างให้สำเร็จ  ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ประการ ดังนี้
(1) ความพยายามทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างไม่ย่อท้อ
(2) ทบทวนบทเรียนประจำ
(3) กำหนดเป้าหมายในการเรียน
(4) ทำงานอย่างต่อเนื่องในแต่ละครั้งได้เป็นเวลานาน

ระเบียบวิธีวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงทดลอง โดยใช้วิธีวิทยาแบบผสม (Mixed methodology) ทั้งกระบวนการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research methodology) และกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research methodology) ควบคู่กันไป

ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง
ประชากรคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนโคราชวิทยาคน  กลุ่มตัวอย่างมี 2 กลุ่มคือ นักเรียนกลุ่มควบคุม จำนวน 81 คน และ นักเรียนกลุ่มทดลอง จำนวน 78 คน รวมเป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 159 คน

วิธีดำเนินการวิจัย
วิธีดำเนินการวิจัย มีกระบวนการ ดังนี้

นักเรียนกลุ่มทดลองจะปฏิบัติธรรมก่อนการเรียนเป็นเวลา 5 นาทีประมาณ 10 สัปดาห์  กลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่มต้องทำแบบวัดความรับผิดชอบต่อการเรียนก่อนและหลังการทดลอง สำหรับกลุ่มทดลองเมื่อปฏิบัติธรรมครบแล้ว จะต้องทำแบบวัดผลการปฏิบัติธรรมด้วย

ในการปฏิบัติธรรมนั้น จะเชิญวิทยากรมาสอนก่อนการทดลอง ในขณะทดลอง จะให้นักเรียนกลุ่มทดลองฟังเสียงของวิทยากรของแผ่นซีดี (Compact disc) 

สำหรับการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ จะใช้เครื่องมือของทฤษฎีฐานราก (Grounded theory) จำนวน 3 ประเภทคือ

1) การสังเกตและจดบันทึก 
2) การสัมภาษณ์เชิงลึก
3) การรายงานตนเองของนักเรียน

การฝึกปฏิบัติธรรมและการฝึกจินตภาพ
การที่นักเรียนกลุ่มทดลองปฏิบัติธรรมจนเห็นดวงปฐมมรรค ซึ่งเป็นดวงกลมใสและเห็นกายธรรมในท้องของนักเรียนนั้น ผู้วิจัยเห็นว่า เป็นการฝึกจินตภาพหรือการฝึกจินตนาการแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นเทคนิคที่นิยมใช้กันมากในการปรับพฤติกรรม (Behavior modification)

Joseph Cautela นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้พัฒนาเทคนิคการปรับพฤติกรรมที่เรียกว่า การวางเงื่อนไขภายใน (Covert conditioning) ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในวงการการปรับพฤติกรรม เทคนิคการวางเงื่อนไขภายในนี้ใช้การจินตนาการเป็นหลัก

วิธีการดำเนินการการวางเงื่อนไขภายในได้รับการพัฒนาแตกแยกออกเป็นหลายวิธีการ  ดังเช่นวิธีการดังต่อไปนี้

- การเสริมแรงจากภายใน (Covert reinforcement)
- การเสริมแรงทางลบจากภายใน (Covert negative reinforcement)
- การเสนอตัวแบบภายใน (Covert modeling)
- การหยุดยั้งภายใน (Covert extinction)
- การสร้างความรู้สึกภายใน (Covert sensitization)
- การปรับสินไหมภายใน (Covert response cost)
- การควบคุมตนเองแบบไตรภาคี (Self-control triad)
วิธีการที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนั้น เป็นการฝึกจินตภาพเพื่อบำบัดพฤติกรรมทั้งสิ้น และกระบวนการฝึกนั้น สลับซับซ้อนมากกว่าการฝึกปฏิบัติธรรมสายวิชชาธรรมกายเสียอีก

ผลการวิจัย
ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนกลุ่มทดลองเป็นเพศหญิง จำนวน 41 คน คิดเป็นร้อยละ 52.56 และเป็นเพศชาย จำนวน 37 คน คิดเป็นร้อยละ 47.44  และนักเรียนกลุ่มควบคุมเพศหญิง จำนวน  47 คน คิดเป็นร้อยละ 58.02 และเป็นเพศชาย จำนวน 34 คน คิดเป็นร้อยละ 41.98

นักเรียนกลุ่มทดลอง มีผลของการปฏิบัติธรรมดังนี้คือ จิตสงบ จำนวน 26 คน    คิดเป็นร้อยละ 33.33  จินตนาการเห็นดวงปฐมมรรค จำนวน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 12.82 และจินตนาการเห็นกายธรรม จำนวน 42 คน คิดเป็นร้อยละ 53.85

การที่นักเรียนกลุ่มทดลองมีผลของการปฏิบัติธรรมต่างกัน เป็นเพราะการกำหนดใจของกลุ่มทดลองแต่ละคน กลุ่มทดลองที่มีความตั้งใจจริง สามารถขจัดเรื่องต่างๆ ให้ออกไปจากใจได้ และสามารถทำตามวิทยากรได้ตลอด และทำใจให้หยุดนิ่งได้อย่างถูกส่วน ก็จะสามารถจินตนาการจนเห็นดวงปฐมมรรคและกายธรรมได้

กลุ่มตัวอย่างที่ความตั้งใจจริง สามารถขจัดเรื่องต่างๆ ให้ออกไปจากใจได้ และสามารถทำตามวิทยากรได้ตลอด แต่ทำใจให้หยุดนิ่งได้อย่างพอประมาณ จะสามารถจินตนาการจนเห็นดวงปฐมมรรคได้ แต่ไม่เห็นกายธรรม

กลุ่มตัวอย่างที่ยังมีความลังเลสงสัย ไม่ตั้งใจจริง ไม่สามารถขจัดเรื่องต่างๆ ให้ออกไปจากใจได้ ทำตามวิทยากรได้ไม่ตลอดเวลา ก็จะทำได้แต่เพียงใจสงบเท่านั้น จินตนาการให้เห็นดวงปฐมมรรคและกายธรรมไม่ได้

สำหรับความรับผิดชอบต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ มีผลการวิจัยดังนี้คือ

1) ก่อนการปฏิบัติธรรม นักเรียนกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ย 163.71 คะแนน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 20.80 คะแนน หลังการปฏิบัติธรรม นักเรียนกลุ่มนี้ มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 172. 88 คะแนน โดยมีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 19.37 คะแนน  คะแนนก่อนและหลังการปฏิบัติธรรมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งเป็นไปสมมุติฐานที่ตั้งไว้ กล่าวคือ ความรับผิดชอบต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนกลุ่มทดลองสูงขึ้นหลังผ่านการทดลองไปแล้ว

*มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

2) ก่อนการปฏิบัติธรรม กลุ่มทดลองเพศชายมีคะแนนเฉลี่ย 159.70 คะแนน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 19.18 คะแนน หลังการปฏิบัติธรรม นักเรียนกลุ่มนี้ มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 166.97 คะแนน โดยมีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 16.77 คะแนน  สำหรับกลุ่มทดลองเพศหญิง  ก่อนการปฏิบัติธรรมมีคะแนนเฉลี่ย 167.32 คะแนน  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 21.77 คะแนน หลังการปฏิบัติธรรม นักเรียนกลุ่มนี้ มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 178.22 คะแนน โดยมีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 20.20 คะแนน




จะเห็นได้ว่า ก่อนการปฏิบัติธรรม นักเรียนกลุ่มทดลองเพศหญิงมีความรับผิดชอบต่อการเรียนมากกว่านักเรียนกลุ่มทดลองเพศชาย หลังจากปฏิบัติธรรมไปแล้ว นักเรียนทั้ง 2 เพศ มีความรับผิดชอบต่อการเรียนมากขึ้น แต่ความรับผิดชอบต่อการเรียนของนักเรียนกลุ่มทดลองเพศชายที่เพิ่มขึ้น ก็ยังไม่เท่ากับความรับผิดชอบต่อการเรียนของนักเรียนกลุ่มทดลองเพศหญิงตั้งแต่ก่อนการปฏิบัติธรรม

3) ก่อนการปฏิบัติธรรม นักเรียนกลุ่มทดลองที่มีจิตสงบมีคะแนนเฉลี่ย 159.04 คะแนน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 18.51 คะแนน หลังการปฏิบัติธรรม นักเรียนกลุ่มนี้ มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 169.08 คะแนน โดยมีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 17.60  คะแนน

นักเรียนกลุ่มทดลองที่สามารถจินตนาการเห็นดวงปฐมมรรคได้  ก่อนการปฏิบัติธรรมมีคะแนนเฉลี่ย 159.73 คะแนน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 19.94 คะแนน หลังการปฏิบัติธรรม นักเรียนกลุ่มนี้ มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่ม ขึ้นเป็น 169.09 คะแนน โดยมีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 17.81 คะแนน

นักเรียนกลุ่มทดลองที่สามารถจินตนาการเห็นกายธรรมได้  ก่อนการปฏิบัติธรรมมีคะแนนเฉลี่ย 167.52 คะแนน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 21.97 คะแนน หลังการปฏิบัติธรรม นักเรียนกลุ่มนี้มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่ม ขึ้นเป็น 176.14 คะแนน โดยมีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 20.56 คะแนน



จะเห็นได้ว่า ก่อนการปฏิบัติธรรม นักเรียนที่สามารถจินตนาการเห็นกายธรรมได้มีความรับผิดชอบต่อการเรียนภาษาอังกฤษมากกว่านักเรียนกลุ่มอื่น หลังจากปฏิบัติธรรมไปแล้ว ความรับผิดชอบต่อการเรียนสูงขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่นอีกเช่นเดียวกัน

สำหรับนักเรียนกลุ่มทดลองที่สามารถจินตนาการเห็นดวงปฐมมรรคได้ กับนักเรียนกลุ่มทดลองที่มีจิตสงบ ก่อนการปฏิบัติธรรม มีคะแนนของความรับผิดชอบต่อการเรียนใกล้เคียงกัน คือ 159.73 คะแนนและ 159. 04 คะแนนตามลำดับ  หลังจากปฏิบัติธรรมไปแล้ว ความรับผิดชอบต่อการเรียนของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่ม สูงขึ้นอยู่ในระดับใกล้เคียงกันเช่นเดิม คือ  169.08 และ 069.09 คะแนนตามลำดับ 

4) นักเรียนกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ย 172.88 คะแนน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 19.37 คะแนน  นักเรียนกลุ่มควบคุมมีคะแนนเฉลี่ย 166.71 คะแนน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 21.12 คะแนน  ค่าคะแนนของนักเรียนทั้ง 2 กลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ กล่าวคือ ความรับผิดชอบต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนกลุ่มทดลองสูงกว่านักเรียนกลุ่มควบคุมหลังจากผ่านการทดลองไปแล้ว


โดยสรุป  การปฏิบัติธรรมสายวิชชาธรรมกายสามารถพัฒนาความรับผิดชอบต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนได้ โดยที่นักเรียนไม่เข้าใจว่า เพราะอะไรตนเอง จึงมีความรับผิดชอบต่อการเรียนที่ดีขึ้น นักเรียนกลุ่มทดลองเห็นว่า การปฏิบัติธรรมแบบสายวิชชาธรรมกายมีประโยชน์และเห็นด้วยกับการปฏิบัติธรรมทุกคน ถึงแม้ว่า จะมีนักเรียนกลุ่มทดลองจำนวนหนึ่ง ไม่ยินดีในการปฏิบัติธรรมในระยะแรกๆ เนื่องจากไม่เข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมจะส่งผลดีและมาเกี่ยวข้องกับการเรียนวิชาภาษาอังกฤษได้อย่างไร

อภิปรายผล
จากผลของการวิจัยในหัวข้อที่ผ่านมา ผู้วิจัยเห็นว่า มีประเด็นที่ควรนำมาอภิปรายผล ดังนี้

1. การใช้การปฏิบัติธรรมแบบวิชชาธรรมกายเป็นเครื่องมือในการวิจัยสามารถจัดกลุ่มของนักเรียนกลุ่มทดลองหลังจากผ่านการทดลองไปแล้วได้ดี

ในหัวข้องานวิจัยที่เกี่ยวข้อง มีงานวิจัยที่ใช้การปฏิบัติธรรมเข้าพัฒนาพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างที่เกี่ยวกับการเรียน ซึ่งก็คือ  การศึกษาเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อการเรียนนั่นเอง ดังนี้ อุดม  ทิพย์พงศ์ธร (2539)ผุสดี  เฉลิมสุข (2543)ประพันธ์  ยอดวงษ์ (2545), ประไพ มีศิลป์ (2545)ชูพรรณ  วงศ์วุฑฒิ (2545)ฐิตนาฎ  เหลืองอ่อน (2547)  และพิณนภา  หมวกยอด (2548) งานทุกชิ้นทุกกล่าวมีลักษณะมีเหมือนกันคือ ไม่สามารถแบ่งหรือจัดกลุ่มได้ว่า กลุ่มตัวอย่างที่ผ่านการทดลองไปแล้วได้ผลของปฏิบัติธรรมเป็นอย่างไร แตกต่างกันหรือไม่ ประการใด กล่าวคือ ไม่สามารถนำผลของการปฏิบัติธรรมมาเป็นตัวแปรในการศึกษาได้

ในการศึกษาครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า นักเรียนกลุ่มทดลองสามารถแบ่งตามผลการปฏิบัติธรรมออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีจิตสงบแต่เพียงอย่างเดียว  กลุ่มที่สามารถจินตนาการเห็นดวงธรรมหรือดวงปฐมมรรคได้  และกลุ่มที่สามารถสามารถจินตนาการเห็นกายธรรมได้  นักเรียนกลุ่มทดลองทั้ง 3 กลุ่มนั้น มีความรับผิดชอบต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษพัฒนาขึ้นในระดับที่แตกต่างกัน 

นักเรียนกลุ่มทดลองที่สามารถจินตนาการเห็นกายธรรมได้ ก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจินตนาการที่มีประสิทธิภาพดีกว่านักเรียนกลุ่มทดลองอีก 2 กลุ่ม จึงสามารถพัฒนาความรับผิดชอบต่อการเรียนได้มากกว่า อนึ่ง ความรับผิดชอบต่อการเรียนของนักเรียนกลุ่มทดลองที่สามารถจินตนาการเห็นกายธรรมได้นั้นสูงกว่านักเรียนกลุ่มทดลองอีก 2 กลุ่มตั้งแต่ก่อนการทดลองแล้ว กล่าวคือ คะแนนก่อนการทดลอง (pre-test) ของนักเรียนกลุ่มนี้ เท่ากับ 167.52 คะแนน  แต่กลุ่มทดลองที่เห็นกาย จิตสงบมีคะแนนก่อนการทดลอง (pre-test) เท่ากับ 159.73 และ 159.04 คะแนน ตามลำดับ

เมื่อผ่านการทดลองไปแล้ว นักเรียนกลุ่มทดลองที่สามารถจินตนาการเห็นกายธรรมได้มีคะแนนหลังการทดลอง (post-test) เท่ากับ 172.88 คะแนน  แต่กลุ่มทดลองที่เห็นกาย จิตสงบมีคะแนนก่อนการทดลอง (pre-test) เท่ากับ 169.09 และ 169.04 คะแนน ตามลำดับ

จะเห็นได้ว่า การใช้การปฏิบัติธรรมสายวิชชาธรรมกายเป็นเครื่องมือในการศึกษานั้น สามารถแยกแยะผลการศึกษาได้ละเอียดและลึกซึ้งกว่าการปฏิบัติธรรมแบบอื่นๆ  การศึกษาที่สามารถลงไปในรายละเอียดและลึกซึ้งนั้น ก็สามารถพัฒนาองค์ความรู้ในการศึกษาได้ดีกว่าเป็นธรรมดา

2) การใช้การปฏิบัติธรรมแบบวิชชาธรรมกายเป็นเครื่องมือในการวิจัยสามารถศึกษารายละเอียดลงลึกไปในตัวแปรเพศได้ดี

ดังได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อที่ผ่านมาว่า การปฏิบัติธรรมแบบอื่นๆ ไม่นิยมที่จะแบ่งกลุ่มของนักเรียนกลุ่มทดลองเมื่อผ่านการทดลองไปแล้ว  แม้กระทั่งการแบ่งตามตัวแปรเพศ ในการ ศึกษาครั้งนี้ได้ผลการศึกษาที่น่าสนใจ และสอดคล้องกับผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ดังนี้

ดร. สตีพ  เจนเทิลแมน (Dr. Steve Gentleman) แห่งวิทยาลัยอิมพีเรียล (Imperial College) ประเทศอังกฤษได้รายงานไว้ในรายการของ BBC (2551) ว่า มันสมองของผู้หญิงกับผู้ชายไม่แตกต่างกันมากนักในแง่โครงสร้าง การที่สมองของผู้ชายใหญ่กว่าก็เป็นเพราะว่า ร่างกายของผู้ชายใหญ่กว่า สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดก็คือ ส่วนที่ประมวลภาษา (language processing)

ในรายการดังกล่าวได้สร้างคำขึ้นมาใหม่ เช่น แก๊บ และ เก็ด  ท้อด และท้อป เป็นต้น แล้วนำไปใส่แถบบันทึกเสียงให้เสียงดังพร้อมๆ กัน  ในการฟังเสียงดังกล่าว กลุ่มตัวอย่างเพศชาย จะได้ยินเพียงเสียงใดเสียงหนึ่งเพียงเสียงเดียว เนื่องจากผู้ชายนิยมใช้สมองด้านขวา  สำหรับกลุ่มตัวอย่างเพศหญิง สามารถฟังเสียงได้ทั้งสองคำ เนื่องจากผู้หญิงสามารถใช้สมองทั้ง 2 ด้านได้ในการเรียนภาษา ด้วยความสามารถของเพศหญิงดังกล่าว จึงทำให้นักเรียนหญิงมีความสามารถในการเรียนภาษามากกว่านักเรียนชาย

ในการศึกษาครั้งนี้  นักเรียนกลุ่มทดลองหญิง มีคะแนนก่อนการทดลอง (pre-test) เท่ากับ 167.32 คะแนน  โดยที่กลุ่มทดลองเพศชาย มีคะแนนก่อนการทดลอง (pre-test) เท่ากับ 159.70 คะแนน  หลังการทดลอง  นักเรียนกลุ่มทดลองหญิง มีคะแนนหลังการทดลอง (post-test) เพิ่มขึ้นเป็น 178.22 คะแนน  ส่วนนักเรียนกลุ่มทดลองชาย มีคะแนนหลังการทดลอง (post-test) เพิ่มขึ้นเป็น 166.97 คะแนน ซึ่งยังไม่เท่ากับคะแนนก่อนการทดลอง (pre-test) ของกลุ่มทดลองหญิงเสียด้วยซ้ำ

จะเห็นได้ว่า การนำการปฏิบัติธรรมสายวิชชาธรรมกายเข้ามาเป็นเครื่องมือของการวิจัยจะทำให้ได้ผลการศึกษาที่ลึกซึ้งและละเอียดลออมากกว่าการปฏิบัติธรรมแบบอื่น

3) การใช้การปฏิบัติธรรมแบบวิชชาธรรมกายเป็นเครื่องมือในการวิจัยเป็นการปรับพฤติกรรม (Behavior modification) สะดวกและใช้งานที่ดีกว่า การปรับพฤติกรรม ตามแนวจิตวิทยา

จากข้องานวิจัยที่เกี่ยวข้องจะเห็นได้ว่า งานวิจัยส่วนใหญ่แล้วจะใช้แนวทางการปรับพฤติกรรมเพื่อพัฒนาความรับผิดชอบต่อการเรียนของกลุ่มตัวอย่าง  กระบวนการปรับพฤติกรรมนั้น มีข้อจำกัดในหลักการก็คือ บุคคลที่เข้ารับการปรับพฤติกรรมจะต้องเต็มใจที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นการยากมากที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลโดยไม่ให้บุคคลเหล่านั้น เต็มใจที่จะเปลี่ยนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ยิ่งถ้าบุคคลนั้น ไม่ต้องการที่จะเปลี่ยนด้วย แล้ว วิธีการปรับพฤติกรรมย่อมจะใช้การไม่ได้เลย”  สมโภชน์  เอี่ยมสุภาษิต (2541 : 12)

สำหรับงานวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยมิได้อธิบายรายละเอียดในขั้นตอนของการวิจัยให้กับกลุ่มตัวอย่าง บอกแต่เพียงว่า มีการวิจัยเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อการเรียน โดยจะมีการทำสมาธิก่อนเรียนประมาณ 5 นาทีเท่านั้น  จะเห็นว่า นักเรียนกลุ่มทดลองก็ไม่รู้ลงไปในรายละเอียดว่า ผู้วิจัยจะศึกษาในประเด็นใดบ้าง  นักเรียนกลุ่มทดลองอาจจะรู้บ้าง จากการทำแบบวัดความรับผิดชอบต่อการเรียนก่อนการทดลอง

เมื่อผลการทดลองผ่านไปแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ผลการศึกษาจากการใช้การปฏิบัติธรรมแบบวิชชาธรรมกายก็สามารถปรับพฤติกรรมความรับผิดชอบต่อการเรียนได้เช่นเดียวกันการปรับพฤติกรรมตามแนวทางของจิตวิทยา

สิ่งที่ดีกว่าก็คือ พฤติกรรมความรับผิดชอบต่อการเรียนในการศึกษาครั้งนี้มีการแพร่ขยายและคงทนมากกว่าการปรับพฤติกรรมของแนวจิตวิทยา

ในการปรับพฤติกรรมตามแนวจิตวิทยาด้วยกันเองนั้น จอห์นสัน (Johnson, 1970 : 147-148) เห็นว่า การปรับพฤติกรรมที่เป็นปัญหา โดยวิธีการควบคุมตนเอง (Self-control) จะทำให้พฤติกรรมที่พึงปรารถนามีความคงทนในระยะเวลาที่ไม่ให้แรงเสริม (extinction) มากกว่าการควบคุมพฤติกรรมจากภายนอก นอกจากนี้ ผลพลอยได้จากการควบคุมตนเองนั้น ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและบุคลากรมากกว่าการควบคุมจากภายนอก (Glynn, Thomas and Shee, 1973 : 113) ทำให้ครูลดภาระในการปกครองชั้นเรียน ประหยัดเวลา ไม่รบกวนการเรียนการสอน (O’Leary and Duby, 1979; Sagotsky, Patterson and Lopper, 1978 : 2542-253)  เช่นเดียวกับคำกล่าวของวิลสัน และโอแลรี (Wilson and O, Leary, 1980 : 217) ที่กล่าวว่า การควบคุมจากภายนอกไม่สามารถทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้เท่ากับการควบคุมตนเอง

จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า การปฏิบัติธรรมแบบวิชชาธรรมกายให้ประสิทธิภาพดีกว่าการควบคุมตนเอง (Self-control) เสียอีก เพราะ กลุ่มตัวอย่างไม่ตั้งเป้าหมายอย่างเช่นการควบคุมตนเอง ไม่ต้องมีการสังเกตการณ์ตัวเอง จะเห็นนักเรียนกลุ่มทดลองมีความรับผิดชอบต่อการเรียนที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะวิชาภาษาอังกฤษแต่เพียงวิชาเดียว แต่ได้แพร่ขขยายไปยังวิชาอื่นๆ ด้วย  โดยที่นักเรียนกลุ่มทดลองเองก็ไม่เข้าใจเป็นเพราะเหตุใด  ซึ่งก็สอดคล้องกับประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมตามสายวิชชาธรรมกายตามที่ การุณย์ บุญมานุช (2541 : 42-45) กล่าวไว้เป็นหัวข้อแรกว่า  การเห็นการเห็นดวงปฐมมรรคมีใจเป็นหิริโอตตัปปะ โดยที่ไม่ทราบว่าหิริโอตตัปปะ คืออะไร

คำว่า หิริโอตตัปปะในที่นี้ หมายถึง นักเรียนเกรงกลัวและละอายพฤติกรรมที่ไม่ดีทุกประการ จึงส่งผลให้นักเรียนกลุ่มทดลองมีความรับผิดชอบต่อการเรียนที่ดีขึ้น

4) การใช้การปฏิบัติธรรมแบบวิชชาธรรมกายเป็นเครื่องมือในการวิจัยให้ความสะดวกกว่าการฝึกจินตภาพ

จากหัวข้องานวิจัยที่เกี่ยวข้องจะเห็นว่า นักเรียนกลุ่มทดลองของการวิจัยที่ใช้การฝึกจินตภาพเป็นเครื่องมือ ก็สามารถมีจินตนาการเห็นภาพได้เป็นส่วนใหญ่  ในการศึกษาครั้งนี้ นักเรียนกลุ่มทดลองก็สามารถจินตนาการเห็นภาพได้เป็นส่วนใหญ่เช่นเดียวกัน สาเหตุก็เป็นเพราะว่า เด็กสามารถสร้างจินตภาพได้ เนื่องจากจินตภาพเป็นสิ่งที่ฝึกหัดได้ ความสามารถนี้อยู่ในตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด หากเราไม่ใช้ความสามารถนี้จะค่อยๆ หายไป และทำให้สูญเสียพรสวรรค์ด้านนี้ของเราไป(Bagley and Hess, 1984)
สิ่งที่การปฏิบัติธรรมแบบวิชชาธรรมกายให้ความสะดวกกว่าก็คือ ขั้นตอนในการปฏิบัติง่ายกว่าการฝึกจินตภาพ  ผู้วิจัยขอยกตัวอย่างการฝึกจินตภาพของวรรณภา  พงษ์ดี (2545 : 58-59) อีกครั้งหนึ่ง ดังนี้ 

การสร้างจินตภาพมี 5 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1
ให้นักเรียนนั่งในท่าสบายที่สุด วางแขน ขา อย่างสบายๆ ให้หายใจเข้าออกอย่างช้าๆ (10 วินาที) ค่อยๆ หลับตา  หายใจเข้าลึกๆ แต่ไม่ต้องเกร็ง ทีนี้ให้ความรู้สึกอยู่ที่เท้า รู้สึกว่าเท้ามีความอบอุ่นสบายและหนัก รู้สึกว่าสบายที่เท้า และแผ่ซ่านความอบอุ่นความสบาย รู้สึกว่าร่างกายสบาย  สูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ ค่อยๆ ปล่อยลมหายใจออกมาช้าๆ รู้สึกสบายที่ท้อง หน้าอก หลัง ไหล่ แขนทั้งสองข้าง ตอนนี้นักเรียนรู้สึกร่างกายสบาย ผ่อนคลาย ให้อยู่กับความรู้สึกนี้สักครู่หนึ่ง (15 วินาที) ลืมตาได้แล้ว

ขั้นที่ 2
ต่อไปนี้ให้นักเรียนค่อยๆ หลับตา  แล้วนึกภาพว่า นักเรียนกำลังหาสถานที่เพื่อทำการบ้านวิชาคณิตศาสตร์  ตอนนี้นักเรียนได้สถานที่ที่นักเรียนชื่นชอบแล้ว (ถาม) นักเรียนลงมือทำการบ้านคณิตศาสตร์อย่างมีความสุข

ขั้นที่ 3
นักเรียนมองเห็นภาพตัวเองนั่งทำการบ้านคณิตศาสตร์อย่างชัดเจน และภาพนั้นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ใหญ่ขึ้นๆ นักเรียนมองเห็นตัวอย่างอย่างชัดเจน

ขั้นที่ 4
แล้วตอนนี้นักเรียนนึกภาพว่า นักเรียนนำการบ้านไปส่งที่โต๊ะคุณครู คุณครูยิ้มให้นักเรียน นักเรียนมีความสุขที่ได้ส่งการบ้าน นักเรียนเดินออกจากห้องเรียนอย่างมีความสุข ขอให้อยู่กับเหตุการณ์นี้สักครู่หนึ่ง

ขั้นที่ 5
ต่อไปให้นักเรียนนึกภาพว่า ตัวเองนั่งทำการบ้านจนเสร็จเรียบร้อยอีก 1 ครั้ง และนำไปส่งคุณครูจนกระทั่งเมื่อนักเรียนส่งการบ้านเสร็จ นักเรียนก็ให้รางวัลกับตัวเอง 1 อย่าง  รางวัลนั้น เป็นสิ่งที่นักเรียนอยากได้มานานแล้ว  (ถาม)  ขอให้นักเรียนอยู่กับความพอใจนี้สักครู่หนึ่ง

เอาละคราวนี้ ขอให้นักเรียนผ่อนคลายรู้สึกสบายที่แขน ขา ไหล่ คอ นักเรียนรู้สึกปลอดโปร่ง และอบอุ่นใจ และตั้งใจอย่างแนวแน่ว่า กลับไปถึงบ้านจะทำการบ้านจริงๆ

จะเห็นว่า ขั้นตอนของการฝึกจินตภาพมีรายละเอียดมาก ส่วนขั้นตอนการฝึกของวิชชาธรรมกายจะทำเพียงจินตนาการให้เห็นดวงธรรมและกายธรรมเท่านั้น



1 ความคิดเห็น:

  1. Casinos Near Casinos Near Casinos in Columbus, OH
    MapYRO 수원 출장안마 Hotels and Resorts offers casinos near 화성 출장마사지 Columbus, OH. Near the 고양 출장마사지 state line is Harrah's 순천 출장마사지 Cherokee Casino, 777 Casino Center Drive, Cherokee, 영천 출장안마 NC 28719, US

    ตอบลบ