บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ไม่ตั้งใจเรียน ป.1

ผมเป็นวิทยากรของงานวิจัยชิ้นนี้ และเป็นที่ปรึกษาของงานวิจัยด้วย  ผู้วิจัยคือ นางประไพ  สนอ่วมนี้ เป็นเพื่อร่วมห้องเรียนรุ่น ป.กศ. ต้น วิทยาลัยครูนครสวรรค์


บทสรุปสำหรับผู้บริหาร (Summary executive)
รายงานผลการวิจัยเรื่อง
ผลของการปฏิบัติธรรมสายวิชาธรรมกายที่มีต่อพฤติกรรมไม่ตั้งใจเรียน
วิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ของ
นางประไพ  สนอ่วม
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะชำนาญการ
โรงเรียนอนุบาลวัดหนองเต่า จังหวัดอุทัยธานี

งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่า ผลของการปฏิบัติธรรมตามสายวิชชาธรรมกายสามารถลดพฤติกรรมไม่ตั้งใจเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้หรือไม่ อย่างไร  โดยมีปัญหามาจากประสบการณ์การสอนของผู้วิจัยดัง นี้

ผู้วิจัยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1  จากการสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่ผ่านมาหลายสิบปี ผู้วิจัยพบว่า ปัญหาพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีลักษณะที่ไม่เอื้อต่อการเรียนหลายประการ เช่น ไม่ทำการบ้าน เกียจคร้าน ไม่ทำงานที่ได้รับมอบหมาย ไม่รับผิดชอบ ไม่ตั้งใจในการเรียน พูดก้าวร้าว ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของครู เก็บตัว ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ยาก ซึมเศร้า และ ก่อการวิวาท เป็นต้น

พฤติกรรมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนของนักเรียนดังกล่าว อาจจะสรุปเป็นปัญหาหลักได้ คือ ปัญหาไม่ตั้งใจเรียน  การที่นักเรียนไม่ตั้งใจเรียนดังกล่าว จึงส่งผลให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ในการเรียนในชั้นสูงขึ้นไปอีก

จากการศึกษาค้นคว้าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในการศึกษาครั้งนี้  ผู้วิจัยพบว่า การพัฒนาพฤติกรรมการไม่ตั้งใจเรียนของนักเรียนมีอยู่หลายวิธี เช่น การให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม เช่น งานวิจัยของสงเคราะห์ แก้วทาสี (2549) เป็นต้น การใช้ทฤษฎีพิจารณาเหตุผลอารมณ์และพฤติกรรม เช่น งานวิจัยของฐิตนาฏ เหลืองอ่อน (2547) เป็นต้น  การพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเอง เช่น งานวิจัยของบุษบากร ตัณฑวรรณ (2545) เป็นต้น  การใช้เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือ เช่น งาน วิจัยของสมฤดี เชยสะอาด (2547) เป็นต้น การใช้ชุดกิจกรรมแนะแนว เช่น งานวิจัยของพัชราภรณ์ รักช่วย (2546) เป็นต้น และการปฏิบัติธรรม เช่น งานวิจัยของผุสดี เฉลิมสุข (2543) เป็นต้น

ศรีเรือน  แก้วกังวาล (2551 : 302-303)  เห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และแนะนำว่า ในการพัฒนาบุคลิกภาพส่วนตนเอง และ บุคคลอื่น ซึ่งก็คือ การพัฒนาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์หรือปรับเปลี่ยนมาเป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ควรใช้คำสอนของศาสนาพุทธ เช่น การทำสมาธิหรือการปฏิบัติธรรม เป็นต้น เป็นเครื่องมือในการพัฒนาพฤติกรรม โดยได้ใช้บทที่ 5 เรื่อง การพัฒนาบุคลิกภาพแนวพุทธศาสนา ของหนังสือเล่มนี้อธิบายวิธีการเพื่อเป็นแนวทางสำหรับพุทธศาสนิกชนที่สนใจ

เมื่อเปรียบเทียบแนวทางในการพัฒนาพฤติกรรมทางการเรียนต่างๆ แล้ว ผู้วิจัยด้วยกับศรีเรือน  แก้วกังวาล (2551) และเห็นว่า การปฏิบัติธรรมเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการศึกษาครั้งนี้ เนื่องจากมีความประหยัดและสะดวก และใช้เวลาน้อย ไม่รบกวนการเรียนการสอนตามปกติ  สำหรับการเลือกการปฏิบัติธรรมตามสายวิชชาธรรมกายมาเป็นเครื่องมือในการศึกษาในครั้งนี้  ผู้วิจัยมีเหตุผล ดังนี้คือ

1) วิทยากร
จากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยพบว่า ส่วนใหญ่แล้วในการวิจัยในรูปแบบนี้  ผู้วิจัยจะทำหน้าที่เป็นวิทยากรในการสอนปฏิบัติธรรมด้วย  ก่อนหน้าที่จะเตรียมการทำวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยไม่มีองค์ความรู้ในการปฏิบัติธรรมมาก่อน  เมื่อเริ่มศึกษาจึงมีความรู้เพิ่มเติมพอที่จะศึกษาวิจัยได้ แต่ไม่สามารถที่จะทำหน้าที่เป็นวิทยากรได้

ในการสืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต (Internet) ผู้วิจัยพบว่า มีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งทำการเผยแพร่การสอนปฏิบัติธรรมตามสายวิชชาธรรมกาย  นอกจากนั้นแล้ว ผู้วิจัยยังพบว่า ดร. มนัส โกมลฑา ผู้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา ได้มาสอนปฏิบัติธรรมตามสายวิชชาธรรมกายในโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดอุทัยธานีเป็นประจำ เช่น โรงเรียนวัดทุ่งพึ่ง อำเภอหนองขาหย่าง โรงเรียนบ้านพุต่อ อำเภอบ้านไร่ เป็นต้น  เมื่อติดต่อกับ ดร. มนัส โกมลฑาเพื่อขอความกรุณาให้มาเป็นวิทยาการในการวิจัยครั้งนี้  ดร. มนัส โกมลฑา ยินดีมาทำหน้าที่เป็นวิทยากรในการศึกษาครั้งนี้  ผู้วิจัยจึงเลือกการปฏิบัติธรรมตามสายวิชชาธรรมกายมาเป็นเครื่องมือในการศึกษาครั้งนี้

2) ที่ปรึกษาในการทำวิจัย
ในการศึกษาผลงานของผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณาในระดับครูวิทยฐานะชำนาญการในจังหวัดอุทัยธานี  ผู้วิจัยพบว่า ส่วนใหญ่แล้วครูดังกล่าวเหล่านั้น ไม่มีที่ปรึกษาในการทำวิจัย ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยพบว่า ดร. มนัส โกมลฑา ผู้ทำหน้าที่เป็นวิทยากร เป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยและการประเมินผล และยินดีให้คำปรึกษาในฐานะที่ปรึกษาอีกตำแหน่งหนึง  จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้วิจัยเลือกการปฏิบัติธรรมตามสายวิชชาธรรมกายมาเป็นเครื่องมือในการศึกษาครั้งนี้

3) ลักษณะเด่นของการปฏิบัติธรรมตามสายวิชาธรรมกาย
ลักษณะเด่นของสายวิชชาธรรมกายที่ทำให้ผู้วิจัยเลือกมาเป็นเครื่องมือของการวิจัยครั้งนี้คือ วิทยากรสามารถสอนให้ผู้ปฏิบัติธรรมจินตนาการเป็นภาพดวงแก้วกลมใสและองค์พระพุทธรูปขาวใสได้  การจินตนาการเป็นภาพได้นั้น เป็นองค์ประกอบหนึ่งของความฉลาดทางปัญญา (Intelligence quotient: IQ) ตามทฤษฎีของการ์ดเนอร์ (Gardner)  วริษา เรซ (2550 : 73-74) กล่าวว่า ไมเคิล แอนเจโล นักแกะสลักชื่อดัง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และซิกมันด์ ฟรอยด์ ต่างก็มีความสามารถในการสร้างจินตภาพจากจินตนาการทั้งสิ้น  เทอดศักดิ์  เดชคง (2547 : 73) ยังกล่าวอีกว่า จินตนาการสามารถสร้างพลังเพื่อเอาชนะอุปสรรคได้ ไทเกอร์ วู้ด นักกอลฟ์มือหนึ่งของโลกยังต้องใช้จินตนาการเพื่อช่วยให้การพัต (pat) ลูกลงหลุมเป็นไปได้ง่ายขึ้น

การที่สายวิชชาธรรมกายสามารถสอนให้ผู้ปฏิบัติธรรมเห็นเป็นภาพได้ จึงเป็นข้อดีที่สำคัญมาก เพราะ การจินตนาการให้เห็นจินตภาพดังกล่าวสามารถเป็นพื้นฐานที่ดีของนักเรียนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนสาขาวิชาต่างๆ อันเป็นประโยชน์โดยอ้อมของการศึกษาครั้งนี้

4) ยังไม่มีการศึกษาการปฏิบัติธรรมตามสายวิชชาธรรมกายในการลดพฤติกรรมไม่ตั้งใจเรียนมาก่อน

โดยสรุป ด้วยข้อจำกัดของผู้วิจัยซึ่งไม่สามารถเป็นวิทยากรด้วยตนเองได้ จึงต้องหาวิทยากรที่สามารถให้ความสะดวกในการศึกษาวิจัย และด้วยข้อจำกัดในด้านความรู้ของการวิจัยซึ่งต้องการที่ปรึกษา และลักษณะเด่นของสายวิชชาธรรมกายซึ่งสามารถสอนให้ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเห็นจินตภาพซึ่งเป็นดวงแก้วกลมใสและองค์พระพุทธรูปขาวใสได้ จึงเป็นเหตุผลหลักในการเลือกการปฏิบัติธรรมตามสายวิชชาธรรมกายมาเป็นเครื่องมือในการศึกษาครั้งนี้

สำหรับวิธีการวิจัยนั้น ผู้วิจัยจะเชิญวิทยากรมาสอนปฏิบัติธรรมให้กับนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเดือนละ 1 ครั้ง  ในกระบวนการเรียนการสอนตามปกตินั้น ผู้วิจัยจะเปิดซีดีเสียงการสอนปฏิธรรมของวิทยากรให้นักเรียนปฏิบัติตามก่อนการเรียนทุกวัน ครั้งละ 5 นาที

หลังการการทำวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว ผลการวิจัยพบว่า

1)  สถานภาพของกลุ่มตัวอย่าง  กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง จำนวน 7 คน คิดเป็นอัตราร้อยละ 36.84 และเป็นเพศชาย จำนวน 12 คน คิดเป็นอัตราร้อยละ 63.16

2) ผลของการปฏิบัติธรรม กลุ่มตัวอย่างจินตนาการเห็นกายธรรมทุกคน ดังนี้

1) กายธรรมพระโสดา
2 คน
คิดเป็นร้อยละ 10.53
2) กายธรรมพระสกิทาคามี
3 คน
คิดเป็นร้อยละ 15.79
3) กายธรรมพระอนาคามี
4 คน
คิดเป็นร้อยละ 21.05
4) กายธรรมพระอรหัต
10 คน
คิดเป็นร้อยละ 52.63

3) ผลการศึกษาพบว่าพฤติกรรมไม่ตั้งใจเรียนโดยรวมของกลุ่มตัวอย่างก่อนการทดลองหรือก่อนการปฏิบัติธรรมมีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 23.27  เมื่อผ่านการทดลองไปแล้ว ค่าคะแนนเฉลี่ยลดลงเหลือ 9.86 โดยมีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.08 และ 1.22 ตามลำดับ

จากการทดสอบความมีนัยสำคัญทางสถิติโดยโปรแกรม SPSS for Windows รุ่น 11 ผลการศึกษาพบว่า ค่าคะแนนเฉลี่ยหลังการปฏิบัติธรรมแตกต่างกับค่าคะแนนเฉลี่ยก่อนการปฏิบัติธรรมอย่างมีนัยสำคัญที่ .05

สำหรับผลการศึกษาด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้เครื่องมือจากทฤษฎีฐานราก (Grounded theory) มีผลการศึกษาดังนี้ 

นักเรียนคนที่ 1
สถานภาพโดยทั่วไปของนักเรียน
ครอบครัวมีฐานะปานกลาง บิดามารดามีอาชีพขายเนื้อหมู ตามตลาดนัดทั่วไป นักเรียน มีพี่น้อง 2 คน นักเรียนมีน้องชาย 1 คน

ก่อนการทดลอง
ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนมีสมาธิในการเรียนสั้น มักจะชอบคุยกับเพื่อนในขณะที่ครูสอนและจะลืมอุปกรณ์การเรียนเสมอ เช่น ลืมหนังสือ เป็นต้น  ชอบลุกจากโต๊ะเดินไปชวนเพื่อนคุย เมื่อครูให้ทำแบบฝึกหัดนักเรียนจะทำงานส่งทันเวลา แต่ครูต้องตักเตือนเป็นประจำ เมื่อสัมภาษณ์มารดาของนักเรียน มารดาของนักเรียนเล่าว่า นักเรียนชอบหยิบสตางค์โดยไม่บอก

หลังจากทดลอง
ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนจะมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น นำอุปกรณ์การเรียนมาครบ การพูดคุยกับเพื่อนน้อยลงมาก ในขณะที่ครูทำการสอนและมอบหมายงานให้ทำ นักเรียนจะทำงานส่งทันเวลา มารดาบอกว่าเขาไม่แอบหยิบสตางค์เอาแล้ว

นักเรียนคนที่ 2
สถานภาพโดยทั่วไปของนักเรียน
นักเรียนอาศัยอยู่กับบิดามารดาซึ่งมีพี่น้อง 3 คน เป็นชายทั้งหมด นักเรียนเป็นน้องคนเล็ก มารดาเล่าว่า นักเรียนดื้อและซนมาก ชอบโกหก ชอบขโมยสตางค์และไม่ยอมรับ

ก่อนการทดลอง
ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนคนที่ 2 มีสมาธิในการเรียนน้อยมาก จะนั่งเฉยได้ไม่เกิน 5 นาที ขณะที่ครูสอนเขาจะต้องลุกจากเก้าอี้เดินหรือมุดไปใต้โต๊ะ เอาของเล่นขึ้นมาเล่นบ้าง คุยกับเพื่อน เล่นกับเพื่อน ไม่นำอุปกรณ์การเรียนมา เช่น ลืมดินสอ ลืมหนังสือ ลืมยางลบ เป็นประจำ ผู้ปกครองบอกว่า ซื้อดินสอให้หายบ่อยที่สุด ไม่ส่งงาน ทำงานที่มอบหมายไม่เสร็จ

หลังการทดลอง
ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนมีสมาธิในการทำงานขึ้นประมาณ 15-20 นาที ในขณะที่ครูสอน นำอุปกรณ์การเรียนมาครบ มีเป็นบางวันที่ไม่ครบ การคุยและเล่นกับเพื่อนน้อยลง แต่ครูก็ยังคอยตักเตือนเป็นบางครั้ง การลุกจากเก้าอี้น้อยลง ทำงานเสร็จส่งทันเวลา แต่บางครั้งครูต้องคอยตักเตือน

นักเรียนคนที่ 3
สถานภาพโดยทั่วไปของนักเรียน
นักเรียนอาศัยอยู่กับบิดามารดา มารดามีอาชีพไปรับจ้างเย็บผ้า บิดาอยู่บ้าน บิดาชอบดื่มสุรา นักเรียนเป็นบุตรคนเดียวของบิดามารดา ฐานะครอบครัวค่อนข้างยากจน

ก่อนการทดลอง
ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนมักจะลืมอุปกรณ์การเรียนมา เช่น ลืมหนังสือ ลืมไม้บรรทัด เป็นต้น  นักเรียนชอบคุย ชอบเล่นกับเพื่อน ขณะที่ครูสอนบางครั้งชอบเอาของเล่นขึ้นมาเล่น ลุกจากเก้าอี้เดินไปมาในขณะที่ครูมอบหมายงานให้ทำ ไม่ส่งงานตามเวลาที่กำหนด โดยครูต้องคอยตักเตือนเสมอ จึงจะส่งงาน

หลังจากทดลอง
ผลการศึกษาพบว่า พฤติกรรมไม่ตั้งใจเรียนลดน้อยลงมากอย่างเห็นได้ชัด นักเรียนมีอุปกรณ์การเรียนครบ  การพูดคุยกับเพื่อนในขณะที่ครูสอนลดน้อยลง ไม่เล่นกับเพื่อน ไม่นำของเล่นขึ้นมาเล่น ขณะที่ครูสอน ไม่ค่อยลุกจากเก้าอี้ในขณะที่ครูสอน เมื่อมีการมอบหมายงานให้ทำ ก็สามารถส่งงานทันเวลาที่กำหนด ทำงานด้วยตนเองทุกครั้ง อย่างไรก็ดี ครูต้องคอยตักเตือนบ้างเป็นครั้งคราว

นักเรียนคนที่ 4
สถานภาพโดยทั่วไปของนักเรียน
นักเรียนอาศัยอยู่กับมารดา บิดาเลิกกับมารดาไปมีภรรยาใหม่  นักเรียนมีพี่ชาย 1 คน มารดามีอาชีพทำนา ฐานะปานกลาง การเรียนปานกลาง ถ้ามีความตั้งใจเรียนจะเรียนได้ดีกว่านี้

ก่อนการทดลอง
ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนมีพฤติกรรมไม่ตั้งใจเรียน โดยมีสมาธิในการเรียนสั้นมากประมาณ 5-10 นาที บางครั้งชอบคุยกับเพื่อนขณะที่ครูสอน ครูต้องคอยตักเตือนเสมอ

หลังการทดลอง
ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนมีพฤติกรรมตั้งใจเรียนมากขึ้น การพูดคุยกับเพื่อนลดน้อยลงมาก ตั้งใจทำแบบฝึกหัดที่คูรมอบหมายเสร็จส่งทันเวลาที่กำหนด

นักเรียนคนที่ 5
สถานภาพโดยทั่วไปของนักเรียน
นักเรียนอาศัยอยู่กับบิดามารดา ซึ่งมีอาชีพทำนา นักเรียนมีพี่ชาย 1 คน

ก่อนการทดลอง
ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนมีพฤติกรรมไม่ตั้งใจเรียนสูงในเรื่องการคุยกับเพื่อน การเล่นกับเพื่อน การลืมอุปกรณ์การเรียน การชอบลุกจากเก้าอี้ทั้งในขณะที่ครูทำการสอนและขณะที่ครูมอบหมายงานให้ปฏิบัติและบางครั้งนำของเล่นอื่นขึ้นมาเล่น แล้วก็ไม่ส่งงานที่ได้รับมอบหมายได้ทันเวลาที่กำหนด ซึ่งครูต้องคอยตักเตือนอยู่เสมอ

หลังการทดลอง
ผลการศึกษาพบว่าพฤติกรรมไม่ตั้งใจเรียนของนักเรียนลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือ ไม่คุยกับเพื่อน ไม่เล่นกับเพื่อน และไม่ลุกจากเก้าอี้เดินไปมา นำอุปกรณ์การเรียนมาครบ ทั้งในขณะที่ครูสอนและขณะที่ครูมอบหมายงานให้ทำ และส่งงานได้ทันเวลาที่กำหนดโดยมีครูต้องตักเตือนเป็นบางครั้ง

นักเรียนคนที่ 6
สถานภาพโดยทั่วไปของนักเรียน
นักเรียนอาศัยอยู่กับตายายและน้า บิดาเลิกกับมารดา มารดาไปทำงานที่กรุงเทพฯ ตายายมีอาชีพทำนาและขายของชำเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน ยายมีหลานเล็กๆ อายุประมาณ 3 เดือนมาเลี้ยงด้วย เวลาโรงเรียนเลิกนักเรียนต้องช่วยยายเลี้ยงหลานด้วย

ก่อนการทดลอง
ผลการศึกษาพบว่านักเรียนมีพฤติกรรมไม่ตั้งใจเรียน ชอบคุยกับเพื่อนขณะที่ครูสอนและนำอุปกรณ์การเรียนมาไม่ครบ ชอบลืมหนังสือภาษาไทยเป็นประจำ และไม่ค่อยทำการบ้านมา บางครั้งชอบลุกจากเก้าอี้เดินไปคุยกับเพื่อนในขณะที่ครูให้ทำแบบฝึกหัด บางครั้งก็นำของเล่นขึ้นมาเล่นขณะครูให้ทำแบบฝึกหัด จึงทำให้ส่งงานไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด

หลังการทดลอง
ผลการศึกษาพบว่า พฤติกรรมไม่ตั้งใจเรียนลดลงมาก การคุยกับเพื่อนและเล่นกับเพื่อนลดน้อยลง และนำอุปกรณ์การเรียนมาครบ และทำการบ้านมาส่งครบ ไม่ลุกจากเก้าอี้เวลาครูให้ทำแบบฝึกหัด จึงทำให้ส่งงานทันตามเวลาที่กำหนด แต่บางครั้งครูก็ต้องคอยตักเตือนบ้างเป็นครั้งคราว

นักเรียนคนที่ 7
สถานภาพโดยทั่วไปของนักเรียน
ครอบครัวมีฐานะยากจนบิดามารดามีอาชีพทำนา นักเรียนมีน้อง 1 คน อ่านหนังสือไม่ค่อยออก

ก่อนการทดลอง
ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนไม่ค่อยมีสมาธิในการฟัง ไม่ค่อยตั้งใจเรียนวิชาภาษาไทย มักจะลืมหนังสือ ชอบคุยกับเพื่อนขณะที่ครูสอนและครูให้ทำแบบฝึกหัด  นำของเล่นขึ้นมาเล่น ลุกจากเก้าอี้เดินไปคุยกับเพื่อน ขณะที่ครูให้ทำแบบฝึกหัด ชอบลอกงานเพื่อน จึงทำให้ส่งงานไม่ทันเวลาที่กำหนด ครูต้องเรียกตักเตือนเสมอ

หลังจากทดลอง
ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนมีสมาธิในการฟังมากขึ้น ไม่ลืมอุปกรณ์การเรียนคุยกับเพื่อนน้อยลง ไม่นำของเล่นขึ้นมาเล่น การลุกจากเก้าอี้น้อยลง จึงทำให้ส่งงานทันเวลาที่ครูกำหนดแต่อย่างไรก็ดี ครูต้องตักเตือนบ้าง

นักเรียนคนที่ 8
สถานภาพโดยทั่วไปของนักเรียน
นักเรียนอาศัยอยู่กับมารดา บิดาเลิกกับมารดาตั้งแต่เกิด ในบ้านมียาย และลุงซึ่งพิการเดินไม่ได้ มารดามีอาชีพรับจ้างทั่วไปและชอบดื่มเหล้า นักเรียนมักจะขาดเรียนบ่อย

ก่อนการทดลอง
ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนมีความตั้งใจเรียนน้อย นักเรียนจะมีสมาธิในการตั้งใจฟังครูสอนน้อยมาก ประมาณ 5-10 นาที นักเรียนจะคุยกับเพื่อนเล่นกับเพื่อน บางครั้งนำอุปกรณ์การเรียนมาไม่ครบ เวลาครูมอบหมายงานให้ทำ นักเรียนลุกจากเก้าอี้เดินไปหาเพื่อน จึงทำให้ส่งงานไม่ทันเวลา ครูต้องตักเตือนเสมอ

หลังจากทดลอง
ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนตั้งใจเรียนมากขึ้นมีสมาธิในการฟังขณะที่ครูสอนนานขึ้น มีสมาธิในการฟังขณะที่ครูสอนนานขึ้นคุยกับเพื่อนน้อยลงในขณะที่ครูสอนและในขณะที่ครูมอบหมายงาน ยังมีการลุกจากเก้าอี้บ้างเล็กน้อย สามารถส่งงานได้ทันเวลา โดยครูต้องตักเตือนบ้าง



1 ความคิดเห็น:

  1. Top 10 games to play in New Jersey in 2021
    1. Mega 피망 슬롯 Fortune (Biggest Slots Provider) · 2. Wolf Gold (Biggest Slots Provider) 돌겠네 진짜 · 바카라시스템배팅 3. Thunderstruck Deluxe (Biggest Slots Provider) 슈어 벳 주소 · 4. Mega Vegas: The 888스포츠

    ตอบลบ