บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

อ่านตรงนี้ก่อน


งานวิจัยที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างสูงในสังคมไทยอยู่ขณะนี้ เป็นงานวิชาการที่นำมาจากต่างประเทศ  มีทฤษฏีหลักการวิธีการทำที่ยึดตามหลักของปรัชญากับวิทยาศาสตร์อย่างเคร่งครัด ดูแล้วไม่น่าจะมาเกี่ยวข้องกับวิชาธรรมกายได้

วิชาธรรมกายเป็นวิชาของพระพุทธเจ้า มีทฤษฎีหลักการวิธีการที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธเถรวาทก็ไม่เห็นที่จะเกี่ยวข้องกับงานวิจัยได้อย่างไร

ก่อนอื่นต้องขออธิบายข้อความที่ว่า “งานวิจัยที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างสูงในสังคมไทยอยู่ขณะนี้” ว่ามีความหมายว่าอย่างไร  เนื่องจากคนบางคนคำว่า “งานวิจัย” ก็ไม่เคยได้ยิน

ผมขอยืนยันว่า ช่วง ณ เวลานี้ คนไทยตกอยู่ในวังวนของ “การวิจัย” กันทั้งนั้น  ไม่เป็นผู้วิจัยเองก็เป็นคนทำงานวิจัย  ไม่เป็นคนทำงานวิจัยก็เป็นตัวอย่างของงานวิจัย

ครูที่ทำผลงานวิชาการ  สร้างนวัตกรรมขึ้นมาแล้ว  ต้องลองใช้นวัตกรรมนั้น โดยการทำ “รายงาน 5 บท”  รายงาน 5 บทที่ว่านั้นก็คือ งานวิจัย

ปัจจุบันนี้ ทำอะไรก็ตามก็ต้องทำ “โครงการ” ขึ้นมาเพื่อขอใช้เงิน  เมื่อปฏิบัติตามโครงการเสร็จแล้ว ก็มักจะมีการประเมินโครงการว่า สำเร็จหรือไม่สำเร็จอย่างไร  การประเมินโครงการก็คือ งานวิจัย

เดินอยู่ดีๆ หรือนั่งอยู่ดีๆ  มีคนมาถามโน่นถามนี่  อันนี้ชอบไหม ชอบอย่างไร  นั่นก็หมายความว่า ท่านตกเป็นกลุ่มตัวอย่างของการวิจัยแล้ว

พวกนี้จะไปงานวิจัยที่สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับ “สินค้า” เพื่อไปพัฒนาสินค้านั้นๆ ให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค


เดินอยู่ดีๆ หรือนั่งอยู่ดีๆ  มีคนมาแจกกระดาษปึกหนึ่ง แล้วขอร้องให้ตอบคำถามในกระดาษเหล่านั้นด้วย นี่ก็คือ งานวิจัยที่นักศึกษาในระดับตั้งแต่ปริญญาตรี-โท ชอบทำกัน

ช่วงนี้ กำลังเข้าโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2554  ซึ่งจะเลือกกันในวันที่ 3 กรกฎาคม  นักการเมืองแต่ละพรรคต่างก็คุยโขมงโฉงเฉงว่า พรรคของตนได้เท่านั้นเท่านี้จากการทำโพลล์ (poll) ของตัวเองบ้าง ของสถาบันการศึกษาบ้าง

การทำโพลล์ก็คือ การทำวิจัยแบบหนึ่ง  ท่านเรียกว่า “การวิจัยเชิงสำรวจ”

เท่าที่อธิบายไปนั้น  ท่านผู้อ่านคงจะพอรู้เรื่องขึ้นแล้วว่า “งานวิจัย” เขามาพัวพันกับชีวิตของคนไทยมากขึ้น

แล้วงานวิจัยมาเกี่ยวกับวิชาธรรมกายได้อย่างไร

งานวิจัยนั้น ที่คนทำวิจัยมาถามโน่น ถามนี่ อยากรู้นั่น อยากรู้นี่ แสดงว่า “เขาไม่รู้” เลยมาถาม  ก็แสดงว่า  งานวิจัยเป็นการหาความรู้ความจริงอย่างหนึ่ง

วิชาธรรมกายเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความรู้ที่เป็นจริงแล้ว  พุทธศาสนิกชน “แค่” ปฏิบัติตามก็พอแล้ว  ไม่ต้องไปค้นหาวิชาธรรมกายอีกแล้ว

การนำ “เครื่องมือของงานวิจัย” ซึ่งเป็นเครื่องมือค้นหาความรู้ มาศึกษา “วิชาธรรมกาย” ซึ่งเป็นความจริงแล้ว  จะไปกันได้หรือไม่ 

ความรู้ที่ได้มากจากกระบวนการวิจัยนั้น จะเป็น “ความจริง” หรือไม่  เป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าติดตาม..

โปรดติดตามต่อไป ....................

************************

Dr. Manas Komoltha  (Ph.D. Integrated Sciences)
Faculty of Sciences and Liberal Arts
Rajamangala University of Technology Isan